ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เทพินทร์ บุญกระจ่าง และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: ชั่วโมงการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยจิตเวช ในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

แหล่งที่มา/Source: ร่วมมือ ร่วมพลัง : มุ่งหวังสู่สุขภาพจิตดี ในปี 2563 การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 144 .

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ ชั่วโมงการพยาบาล หมายถึง จำนวนเวลาการทำงานที่บุคลากรพยาบาลใช้ไปในการดูแลผู้ป่วยในแต่ละหน่วยบริการ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดอัตรากำลังทางการพยาบาล โดยพบสัดส่วนของจำนวนพยาบาลวิชาชีพ (RN) ต่อบุคลากรระดับต่ำกว่าวิชาชีพ (Non-RN) และจำนวนชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการพยาบาลต่อหน่วยบริการที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับการลดลงในผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ของผู้รับบริการ ดังนั้นข้อค้นพบในเรื่องจำนวนชั่วโมงในการปฏิบัติการพยาบาลโดยตรงจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่บ่งบอกถึงคุณภาพการพยาบาลและนำไปสู่การบริหารอัตรากำลังทางการพยาบาล การบริหารบริการพยาบาลให้มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ. วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชั่วโมงการพยาบาลที่ผู้ป่วยได้รับสำหรับผู้ป่วยโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์. วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional study กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่รับรักษาในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2550 จำนวน 330 ราย จากทุกหอผู้ป่วย รวม 11 หอผู้ป่วยๆ ละ 30 ราย โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage Sampling) จำแนกผู้ป่วยออกเป็น 4 ประเภท คือ ฉุกเฉินและวิกฤต แรกรับ เร่งรัดบำบัด และบำบัดระยะยาว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบบันทึกเวลาที่บุคลากรปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลโดยตรงต่อผู้ป่วย ประกอบด้วย 6 หมวด ได้แก่ การบำบัดทางจิต การช่วยเหลือด้วยกลุ่ม การปฏิบัติกิจกรรมการดูแลรักษา การดูแลกิจวัตรประจำวัน การเยี่ยมตรวจ และกิจกรรมอื่นๆ วิเคราะห์ข้อมูลโดยคำนวณหา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน. ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤต มีค่าเฉลี่ยชั่งโมงการพยาบาลมากที่สุด เท่ากับ 445.68 นาที รองลงมา คือ ผู้ป่วยเร่งรัดบำบัด เท่ากับ 336.52 นาที ผู้ป่วยแรกรับ เท่ากับ 288.36 นาที และผู้ป่วยบำบัดระยะยาว เท่ากับ 284.45 นาที ตามลำดับ และค่าเฉลี่ยชั่วโมงการพยาบาลผู้ป่วยทุกประเภท เท่ากับ 338.75 นาที (5 ชั่วโมง 38.55.นาที). สรุปผลการศึกษา ผลการศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ ทำให้ทราบปริมาณเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการพยาบาลโดยตรงในแต่ละหมวดกิจกรรมการพยาบาลจากบุคลากรทางการพยาบาลในสถานการณ์จริงของแต่ละหอผู้ป่วย ซึ่งผู้บริหารทางการพยาบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนการบริหารและพัฒนาอัตรากำลังในหน่วยบริการให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด. ข้อเสนอแนะ ควรศึกษาปริมาณเวลาที่บุคลากรทางการพยาบาลใช้ไปในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเพื่อการบริหารอัตรากำลังที่เหมาะสมในแต่ละหอผู้ป่วย และควรมีการศึกษาซ้ำเกี่ยวกับปริมาณเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลโดยตรงเพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารอัตรากำลังให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของโรงพยาบาล.

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, การพยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2008

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Code: 2010000267

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: