ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรุณี โสตถิวนิชย์วงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: รูปแบบการเกิดพฤติกรรมรุนแรงในผู้ป่วยจิตเภท โรงพยาบาลศรีธัญญา.

แหล่งที่มา/Source: ร่วมมือ ร่วมพลัง : มุ่งหวังสู่สุขภาพจิตดี ในปี 2563 การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 149 .

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ ปัญหาการเกิดพฤติกรรมรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวชในหอผู้ป่วยสาเหตุจากความผิดปกติทางจิตและสิ่งแวดล้อม จนยั่วยุให้เกิดอารมณ์โกรธ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาผู้ป่วย บุคลากรได้รับบาดเจ็บ ถ้ารุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ จากสถิติผู้ป่วยจิตเภทที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลศรีธัญญาปี 2548-2550 พบว่า เกิดอุบัติการณ์พฤติกรรมรุนแรง ร้อยละ 9.34 . 9.91 และ5.76 ตามลำดับ ดังนั้นการหามาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพได้ จำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาการเกิดพฤติกรรมรุนแรง. วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณลักษณะผู้ป่วยจิตเภทและรูปแบบการเกิดพฤติกรรมรุนแรงในผู้ป่วยจิตเภทโรงพยาบาลศรีธัญญา. วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาย้อนหลัง กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจงเวชระเบียนผู้ป่วยจิตเภทที่จำหน่ายปี 2550 มีบันทึกการเกิดพฤติกรรมรุนแรงระบุอยู่ในบันทึกทางการพยาบาล จำนวน 350 แฟ้ม คิดเป็น ร้อยละ 10.9 ของจำนวนแฟ้มเวชระเบียนทั้งสิ้น 3.200 แฟ้ม เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบบันทึกข้อมูลที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และทดสอบสถิติไคสแควร์. ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยจิตเภทที่เกิดพฤติกรรมรุนแรง ร้อยละ 61.4 เป็นเพศชาย และเพศหญิง ร้อยละ 38.6 อายุระหว่าง 20-39 ปี อายุเฉลี่ย 37 ปี จบระดับประถมศึกษามากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นโสด พบมี ประวัติใช้และไม่ใช้สุรา/สารเสพติด เกือบเท่าๆกัน ได้รับการประเมินอยู่ในประเภทผู้ป่วยแรกรับมากที่สุด ส่วนใหญ่ มีการประเมินการเฝ้าระวังพฤติกรรมรุนแรงตั้งแต่แรกรับ เกิดเหตุในหอผู้ป่วยแรกรับชายมากที่สุด รองลงมาหอผู้ป่วยแรกรับหญิง ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ เวลา 12.00 -16.00 น. และ เวลา 16.00 น. -20.00 น. สถานที่เกิดเหตุพบมากที่สุดห้องนอน ร้อยละ 96.3 ผู้ป่วยมีลักษณะพฤติกรรมรุนแรงที่แสดงออก 3 ด้าน คือ พฤติกรรมรุนแรงต่อตนเอง ระดับความรุนแรงเกิดแล้วได้รับบาดเจ็บตั้งแต่เกิดบาดแผลต้องได้รับการรักษา ร้อยละ 23.1 ลักษณะอาการทางจิตของผู้ป่วยพบอาการหงุดหงิดมากที่สุด รองลงมามีหูแว่ว อาการหลงผิดและหวาดระแวงพบความถี่ในการเกิดพฤติกรรมรุนแรง 1 ครั้ง ร้อยละ 70.3 รองลงมา คือ ความถี่ 2-3 ครั้ง และการประเมินการเฝ้าระวังพฤติกรรมรุนแรงไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของการเกิดพฤติกรรมรุนแรง. ข้อเสนอแนะ การศึกษาครั้งนี้ถือว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการหาแนวทางเพื่อพัฒนางานให้เกิดคุณภาพ และความปลอดภัย โดยควรมีการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเพื่อลดอุบัติการณ์พฤติกรรมรุนแรงในผู้ป่วย รวมทั้งควรมีการศึกษาระบบการบริหารจัดการในหอผู้ป่วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในอนาคต.

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, รูปแบบการเกิดพฤติกรรมรุนแรง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา

Code: 2010000272

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: