ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ณาตยา สงห้อง, สรยุทธ วาสิกนานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: การรักษาภาวะแมเนียด้วยยาในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ในหอผู้ป่วยจิตเวช ระหว่าง ปี พ.ศ. 2540-2550.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. ปีที่ 53, ฉบับที่ 3, กรกฎาคม-กันยายน 2551, หน้า 293.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล โรคไบโพลาร์ ในช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา มียาหลายขนานที่นอกจากลิเทียม เช่น ยากันชัก และยารักษาโรคจิตรุ่นสอง ซึ่งต่างได้รับการยอมรับและมีการใช้อย่างแพร่หลายในการรักษา ภาวะแมเนีย ทำให้รูปแบบการรักษาจึงน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา. วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการใช้ยารักษาภาวะแมเนียและภาวะผสมในภาพรวม และศึกษาความแตกต่างของรูปแบบการใช้ยาในผู้ป่วยในช่วงปี พ.ศ. 2550 อีกทั้งศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษาโดยดูจากการปรับตัวต่อการทำงานและสังคมหลังการรักษา รวมทั้งเปรียบเทียบอัตราการกำเริบของโรค. วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ภาวะแมเนีย หรือภาวะผสมที่เข้ารับตัวในโรงพยาบาลในปี พ.ศ. 2540, 2545 และ 2550 โดยเก็บข้อมูลพื้นฐาน การวินิจฉัย การสั่งยารวมทั้งติดตามการรักษาหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาล 3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูลผลการปรับตัวต่อการทำงานและสังคมหลังการรักษา และอัตราการกำเริบของโรค. ผลการศึกษา จำนวนผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมด 152 ราย เป็นผู้ป่วยภาวะแมเนีย 139 ราย ภาวะผสม 13 รายและมีอาการโรคจิต 86 ราย ในภาพรวมผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.7 ได้รับกลุ่มยารักษาโรคจิตรุ่นแรก รองลงมาคือ ร้อยละ 55.3 ได้รับการรักษาด้วยยากันชัก ส่วนการใช้ลิเทียมมีอัตราการใช้ร้อยละ 47.4 โดยมีผู้ป่วยเพียง ร้อยละ 19.7 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเพียงกลุ่มเดียว แต่เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการใช้ยาในช่วงเวลา 10 ปี พบว่าอัตราการใช้ลิเทียมลดลงมาก จากที่มีอัตราการใช้ร้อยละ 68.9 ในปี พ.ศ. 2540 ลดลงเหลือร้อยละ 29.4 ในปี พ.ศ. 2550 ในขณะที่อัตราการใช้ยากันชักอย่าง valproate เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 11.5 ใน ปี พ.ศ. 2540 เป็นร้อยละ 67.7 ในปี พ.ศ. 2550 เช่นเดียวกับอัตราการใช้ยารักษาโรคจิตรุ่นสองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในปี พ.ศ. 2540 เป็นร้อยละ 55.9 ในปี พ.ศ. 2550 ในขณะที่การใช้ยารักษาโรคจิตรุ่นแรกลดลงบ้าง จากอัตรา ร้อยละ 78.7 ในปี พ.ศ. 2540 เหลือร้อยละ 50.0 ในปี พ.ศ. 2550 มีการใช้จำนวนขนานยาเฉลี่ยในการรักษาเพิ่มขึ้นจาก 1.8 ขนาน ใน ปี พ.ศ. 2540 เป็น 2.6 ขนาน ใน ปี พ.ศ. 2550 จากการติดตามผลการปรับตัวต่อการทำงานและสังคมหลังการจำหน่ายจากโรงพยาบาล 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยประมาณร้อยละ 90 จะมีอาการหลงเหลือ เล็กน้อยถึงปานกลาง สามารถทำงานที่ง่ายขึ้นได้ โดยมีอัตราการกำเริบเฉลี่ยร้อยละ 18.4. สรุป การรักษาผู้ป่วยภาวะแมเนียและภาวะผสม มีแนวโน้มการใช้ลิเทียมและยารักษาโรคจิตรุ่นแรกลดลง แต่มีอัตราการใช้ยากันชักและยารักษาโรคจิตรุ่นสองเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มการใช่ยาแบบผสมจำนวนหลายขนานมากขึ้น จากการติดตามการรักษา 3 เดือน พบอัตราการกำเริบค่อนข้างสูง ทางด้านการปรับตัวต่อการทำงานและสังคมหลังการจำหน่ายจากโรงพยาบาล 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยที่ไม่กำเริบเกือบทั้งหมดมีอาการหลงเหลือเล็กน้อยถึงปานกลางแต่สามารถทำงานที่ง่ายขึ้นได้.

Keywords: โรคไบโพลาร์, การรักษา, ลิเทียม, ยากันชัก, ยารักษาโรคจิต.

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สงขลา 90110

Code: 201000043

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: