ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัจฉรารพี จำปา, หรรษา เศรษฐบุปผา, สมบัติ สกุลพรรณ์.

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ที่เป็นโรคติดสุรา โรงพยาบาลหางดง จังหวัดเชียงใหม่.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง. ปีที่ 24, ฉบับทึ่ 3, กันยายน-ธันวาคม 2551, หน้า 1-2.

รายละเอียด / Details:

การติดสุราเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายต่อบุคคล ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ที่เป็นโรคติดสุรา เกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย และพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัว อาจเป็นปัจจัยหนึ่งและมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคติดสุรา พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ที่เป็นโรคติดสุรา และความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ที่เป็นโรคติดสุรา ซึ่งเข้ารับบริการในโรงพยาบาลหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 60 คน และผู้ศึกษาได้ดำเนินการเก็บข้อมูล ในเดือนมีนาคม 2550 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) ข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัว ที่พัฒนาขึ้นโดยชินานาฎ จิตตารมย์ (2545) จากกรอบแนวคิดของกอร์ดอน (Gordon, 2000) และ 3) แบบประเมินพฤติกรรมการดื่มสุรา (AUDIT) ซึ่งแบบประเมินพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัว และแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มสุรา ได้นำไปหาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.81 และ 0.86 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน. ผลการศึกษาพบว่า 1. ผู้ที่เป็นโรคติดสุรา มีพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวโดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง และพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวรายด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวด้านพื้นฐานการเข้าใจบุคคล ด้านการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และด้านการสื่อสารความรู้สึกและร่วมกันแก้ปัญหา อยู่ในระดับปานกลาง. 2. ผู้ที่เป็นโรคติดสุราทั้งหมด มีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์แบบติด โดยมีความถี่ของพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ขึ้นไป. 3. ผู้ที่เป็นโรคติดสุรามีพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวโดยรวมสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่ม แอลกอฮอล์ทางลบ ในระดับต่ำมาก (r= -.21, p ‹ .05) และพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัวรายด้าน ได้แก่ ด้านพื้นฐานการเข้าใจบุคคล ด้านการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และ ด้านการสื่อสารความรู้สึกและร่วมกันแก้ปัญหา มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ทางลบในระดับต่ำมากเช่นเดียวกัน (r = -.21, r = -.27, r = -.23, p < .05 ตามลำดับ) ส่วนพฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัว ด้านการฟังอย่างมีประสิทธิภาพไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ (r = -.17, p < .05). ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนจัดกิจกรรมการพยาบาลในการให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการสื่อสารแก่ผู้ที่เป็นโรคติดสุราและครอบครัว ซึ่งจะส่งผลถึงการจัดการเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ในผู้ที่เป็นโรคติดสุราต่อไป.

Keywords: พฤติกรรมการสื่อสารในครอบครัว, พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์, ผู้ที่เป็นโรคติดสุรา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: โรงพยาบาลหางดง

Code: 201000066

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: