ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิราพร ชลธิชาชลาลักษณ์, พรทิพย์ มาลาธรรม, สมจิต หนุเจริญกุล, ชาญ เกียรติบุญศรี.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวล การตอบสนองทางสรีระและตัวแปรในการหย่าเครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยระหว่างหย่าจากเครื่องช่วยหายใจ.

แหล่งที่มา/Source: รามาธิบดีพยาบาลสาร. ปีที่ 14, ฉบับที่ 3, กันยายน-ธันวาคม 2551, หน้า 328.

รายละเอียด / Details:

การหย่าจากเครื่องช่วยหายใจอาจมีส่วนทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างหย่าจากเครื่องช่วยหายใจ เกิดความวิตกกังวลและมีผลต่อการตอบสนองทางสรีระ จากการทบทวนวรรณกรรม ดนตรีบำบัดมีบทบาทในการลดความวิตกกังวล และเพิ่มความผ่อนคลายในประชากรกลุ่มต่าง ๆ แต่ยังไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาผลของดนตรีบำบัดในผู้ป่วยที่หย่าจากเครื่องช่วยหายใจ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยในครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวล การตอบสนองทางสรีระและตัวแปรในการหย่าเครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยระหว่างหย่าเครื่องช่วยหายใจ กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงหย่าจากเครื่องช่วยหายใจในหอผู้ป่วยวิกฤตของโรงพยาบาลรามาธิบดี 3 แห่ง โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 20 ราย การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองแบบ crossover design คือ มีกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวแต่แบ่งเป็นช่วงควบคุมและช่วงทดลองเพื่อเปรียบเทียบความวิตกกังวล การตอบสนองทางสรีระและตัวแปรในการหย่าเครื่องช่วยหายใจที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยระหว่างระยะทดลองซึ่งผู้ป่วยจะได้รับฟังดนตรีนาน 30 นาที และระยะควบคุมซึ่งผู้ป่วยจะไม่ได้รับฟังดนตรี โดยใช้วิธีการจับฉลากในการจัดลำดับก่อนหลังของทั้ง 2 ระยะ ประเมินผลโดยวัดความวิตกกังวล การตอบสนองทางสรีระ ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และความดันโลหิต และตัวแปรในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ ได้แก่ oxygen saturation (ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง) tidal volume (ปริมาตรลมหายใจเข้าออกในการหายใจตามปกติ) และ rapid shallow breathing index (จำนวนครั้งที่ผู้ป่วยต้องหายใจใน 1 นาทีเพื่อที่จะให้ได้ tidal volume 1 ลิตร) ทั้ง 2 ระยะ ผลการศึกษาพบว่าขณะที่ได้รับฟังดนตรีบำบัด ความวิตกกังวล อัตราการหายใจ และความดันเฉลี่ยของหลอดเลือดแดงของกลุ่มตัวอย่างลดลงกว่าขณะไม่ได้รับดนตรีบำบัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามตัวแปรอื่นของการตอบสนองทางสรีระและตัวแปรในการหย่าเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยขณะที่ได้รับฟังดนตรีบำบัดและขณะไม่ได้รับดนตรีบำบัดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ผลจากการวิจัยนี้สรุปว่า ดนตรีบำบัดสามารถช่วยลดความวิตกกังวลและการตอบสนองทางสรีระบางตัวแปรในผู้ป่วยขณะหย่าเครื่องช่วยหายใจได้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าดนตรีบำบัดส่งเสริมให้เกิดการผ่อนคลายในผู้ป่วยขณะหย่าจากเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งอาจจะช่วยสงวนพลังงานให้กับผู้ป่วยและส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพได้.

Keywords: ดนตรีบำบัด, ความวิตกกังวล, การตอบสนองทางสรีระ, ตัวแปรในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ, การหย่าจากเครื่องช่วยหายใจ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2551

Address: ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Code: 201000082

ISSN/ISBN: 0857-8052

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: