ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จำลอง ดิษยวณิช

ชื่อเรื่อง/Title: พุทธศาสนาและจิตเวชศาสตร์

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 43 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2541, หน้า 266-291.

รายละเอียด / Details:

มีทั้งความคล้ายคลึงกัน และความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างพระอภิธรรม ซึ่งเป็นจิตวิทยาแนวพุทธ และจิตเวชศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิเคราะห์ ระบบเกี่ยวกับคำสอนทั้งสองอย่าง มีมโนทัศน์ว่าปรากฏการณ์ทางจิตทั้งหลายรวมทั้งความทุกข์และพฤติกรรมต่างๆ ล้วนแต่มีสาเหตุที่เป็นลักษณะเฉพาะอยู่ก่อนแล้วและมักปฏิบัติการอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก อย่างไรก็ตามภวังคจิตหรือจิตไร้สำนึกในพุทธศาสนามีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าในจิตวิเคราะห์มาก เพราะเป็นที่เก็บสั่งสมของกุศลกรรมและอกุศลกรรม อาสวะและบารมี รวมทั้งตัณหาซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ ตัณหาสามอย่างซึ่งได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา สามารถเปรียบเทียบได้กับมโนทัศน์ของสัญชาตญาณทางเพศ สัญชาตญาณแห่งอัตตา และสัญชาตญาณแห่งความตายในจิตวิเคราะห์ตามลำดับ ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่เกี่ยวกับอกุศลมูลในจิตไร้สำนึกซึ่งได้แก่ ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) ความหลง (โมหะ) นั้น มโนทัศน์ของความโลภและความโกรธมีมุมมองที่คล้ายคลึงกันหลายอย่างกับแรงขับทางเพศ และแรงขับทางก้าวร้าว แต่ฟรอยด์ดูเหมือนจะไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องของความหลง (โมหะ) เลย เกี่ยวกับกุศลมูลในจิตไร้สำนึก ซึ่งได้แก่ ความไม่โลภ (อโลภะ) หรือความคิดเผื่อแผ่ ความไม่โกรธ (อโทสะ) หรือความเมตตา และ ความไม่หลง (อโมหะ) หรือปัญญา สามารถเปรียบเทียบได้กับมโนทัศน์ของอภิอัตตาในจิตวิเคราะห์ จุดหมายในจิตเวชศาสตร์คือการช่วยผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตใจให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งการปรับตัวทางสังคมและพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ดีขึ้น เป้าประสงค์ในพุทธศาสนาสูงกว่าในจิตเวชศาสตร์มาก ในแง่ที่ว่าได้ให้คำสอนแก่คนปกติที่สามารถนำมาปฏิบัติจนมีพัฒนาการทางจิตวิญญาณสูงขึ้นเรื่อยๆ จากระดับโลกียะเข้าสู่ระดับโลกุตตระ และบรรลุนิพพานในที่สุด ในจิตวิเคราะห์ยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิผลในการทำลายล้างแรงขับทางสัญชาตญาณและตัณหาของมนุษย์ให้หมดสิ้นได้ แต่ในพุทธศาสนากิเลสอย่างละเอียดในจิตไร้สำนึกหรืออนุสัยกิเลสสามารถขจัดได้โดยสิ้นเชิงด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มุมมองทางจิตวิทยาของวิปัสสนากรรมฐานประกอบด้วย 1) การกำหนดรู้เฉย ๆ 2) การขจัด-การเก็บกด 3) การขจัด-การวางเงื่อนไข 4) การเรียนรู้ใหม่ และ 5) การพิจารณาซ้ำ ฟรอยด์เชื่อว่าภาวะของสุขภาพจิตสัมบูรณ์เป็นอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่า ความวิตกกังวลซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคประสาทยังคงมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ในทางตรงกันข้าม พุทธศาสนากลับมีแนวคิดว่า สุขภาพจิตสัมบูรณ์เป็นสิ่งที่บรรลุได้ในชีวิตนี้ ถ้าบุคคลใดก็ตามสามารถขจัดกิเลสและอาสวะทั้งหลายภายในจิตได้โดยสิ้นเชิง บุคคลดังกล่าวเรียกว่า “พระอรหันต์” ผู้เป็นอริยบุคคลขั้นสูงสุดและสามารถทำลายสังโยชน์ซึ่งเป็นกิเลสที่ผูกพันสัตว์ ให้เวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารได้หมดสิ้น

Keywords: ตัณหา กุศลมูล อกุศลมูล วิปัสสนากรรมฐาน แรงขับทางสัญชาตญาณ อภิอัตตา, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยาแนวพุทธ, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

Code: 0000088

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทความฟื้นวิชา: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 2.14MB