ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สาโรช คำรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาหาเกณฑ์มาตรฐานของแบบประเมินพฤติกรรมเด็ก SDQ (Strength and Difficulties Questionnaire) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544 . หน้า152-153

รายละเอียด / Details:

การศึกษาหาเกณฑ์มาตรฐานของการประเมินพฤติกรรมเด็ก SDQ (Strength and Difficulties Questionnaire) นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หาเกณฑ์มาตรฐานแบบ SDQ ของเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแบบประเมินที่ Dr.Robert Goodman จิตแพทย์เด็ก ประเทศอังกฤษ เป็นผู้สร้างและแพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล และคณะเป็นผู้แปลเป็นฉบับภาษาไทย และศึกษาหาความเชื่อได้ของแบบประเมินรวมทั้งค่ามาตรฐานของเด็กไทยใน ภาคกลางแล้วในปี พ.ศ 2543 ในการศึกษาได้ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง แบบ Multi-state Random Sampling โดยเลือกสุ่มจังหวัดจากเขตการศึกษาที่ 9,10 และ 11 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตการศึกษาละ 2 จังหวัด รวม 6 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สกลนคร หนองบัวลำภู และอุบลราชธานี เลือกจังหวัดละ 2 อำเภอ คืออำเภอเมือง และอำเภออื่นๆ อีก 1 ตำบลแต่ละอำเภอเลือก 2 โรงเรียน ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อย่างละ 1 โรงเรียน แต่ละโรงเรียนเก็บข้อมูลเด็กทุกชั้นปีๆ ละ 3 ห้องเรียนๆละ 10 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 5 คน รวม โรงเรียนละ 180 คน ได้ตัวอย่างมาทั้งสิ้น 3,885 คน การเก็บข้อมูลเด็ก 1 คนประเมิน 3 ฉบับ คือ เด็กประเมินตนเอง ครูประเมินเด็ก และผู้ปกครองประเมินเด็ก คัดเลือกข้อมูลที่มีความสมบูรณ์และสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้รวมทั้งสิ้น 3,668 ชุดคิดเป็นร้อยละ 99.4 ของแบบประเมินที่รวบรวมได้ การวิเคราะห์ข้อมูลได้วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป และแบบประเมินเป็นรายข้อ ด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าคะแนนต่ำสุดและสูงสุด วิเคราะห์กลุ่มปัญหาพฤติกรรมด้วยการวิเคราะห์ความแตกต่างของผลการประเมินโดยเด็ก ผู้ปกครอง และครู ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) วิเคราะห์ความแตกต่างรายคู่ด้วย Scheffe method วิเคราะห์ด้วยความสัมพันธ์ของปัจจัยข้อมูลทั่วไป และปัจจัยปัญหาพฤติกรรมด้วย การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson's Product Moment Coefficient Correlation) และวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ(Multiple Regression) ระหว่างปัจจัยปัญหาพฤติกรรมด้านต่างๆ กับความรู้สึก มีปัญหาด้านอารมณ์ สมาธิ พฤติกรรม หรือความสามารถเข้ากับผู้อื่น ทั้ง 3 ชุด และวิเคราะห์ปัจจัย (Factors Analysis) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของข้อคำถามกับปัจจัยต่างๆ และหาค่ามาตรฐานในการจำแนกกลุ่มเด็กโดยการหาจุดตัดของคะแนน (Cut of point) ในแต่ละปัจจัยในแต่ละชุดของแบบประเมิน ผลการศึกษา การศึกษาได้สรุปผลเกณฑ์มาตรฐานการจัดกลุ่มของเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปัจจัยปัญหาพฤติกรรมด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ พฤติกรรมด้านสัมพันธภาพทางสังคม เกณฑ์มาตรฐานของกลุ่มมีจุดแข็งในชุดเด็กประเมิน ผู้ปกครองประเมิน และครูประเมินมีค่าเท่ากันคือเท่ากับ 6-10 กลุ่มเสี่ยงเท่ากับ 5 และกลุ่มไม่มีจุดแข็งเท่ากับ 0-4 พฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง เกณฑ์มาตรฐานของกลุ่มปกติในชุดเด็กประเมิน และครูประเมินมีค่าเท่ากันคือ เท่ากับ 0-4 กลุ่มเสี่ยงเท่ากับ 5 และกลุ่มมีปัญหาเท่ากับ 6-10 ชุดผู้ปกครองประเมินกลุ่มปกติเท่ากับ 0-5 กลุ่มเสี่ยง เท่ากับ 6 กลุ่ม มีปัญหา เท่ากับ 7-10 พฤติกรรมด้านอารมณ์ เกณฑ์มาตรฐานของกลุ่มปกติในชุดเด็กประเมิน และครูประเมินมีค่าเท่ากันคือ 0-4 กลุ่มเสี่ยง เท่ากับ 5 กลุ่มมีปัญหา เท่ากับ 6-10 ชุดครูประเมินกลุ่มปกติเท่ากับ 0-2 กลุ่มเสี่ยง เท่ากับ 3 กลุ่มมีปัญหา เท่ากับ 4-10 พฤติกรรมเกเร เกณฑ์มาตรฐานของชุดเด็กประเมิน ผู้ปกครองประเมิน และครูประเมินในกลุ่มปกติ เท่ากับ 0-3,0-2 และ 0-1 กลุ่มเสี่ยงเท่ากับ4,3 และ 2 กลุ่มมีปัญหาเท่ากับ 5-10,4-10 และ 3-10 ตามลำดับ ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน เกณฑ์มาตรฐานของชุดเด็กประเมิน ผู้ปกครองประเมิน และครูประเมิน ในกลุ่มปกติ เท่ากับ 0-3,0-5 และ 0-4 กลุ่มเสี่ยงเท่ากับ 4,6และ 5 กลุ่มมีปัญหาเท่ากับ 5-10, 7-10 และ 6-10 ตามลำดับคะแนนรวมปัญหาพฤติกรรม เกณฑ์มาตรฐานของคะแนนรวมพฤติกรรมในชุดเด็กประเมิน ผู้ปกครองประเมิน และครูประเมินกลุ่มปกติ เท่ากับ 0-15,0-17 และ 0-14 กลุ่มเสี่ยงเท่ากับ16-18,18-19 และ 15-17 กลุ่มมีปัญหาเท่ากับ 19-40,20-40 และ 18-40 ตามลำดับ

Keywords: แบบประเมินพฤตกิรรม, เด็ก, พฤติกรรม, จิตเวชเด็ก, child psychiatry, child, SDQ, strength and difficulties questionnaire, test

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 0000100

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -