ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ภมริน เชาวนจินดา

ชื่อเรื่อง/Title: ลักษณะทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544 . หน้า 166

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาว่าลักษณะทางพุทธศาสนาร่วมกับการสนับสนุนทางสังคม จิตลักษณะและลักษณะทางชีวสังคมของผู้สูงอายุจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตด้านใดของผู้สูงอายุบ้าง และยังศึกษาว่าผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตด้านครอบครัว ด้านเศรษฐกิจ และด้านสุขภาพสูงเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตด้านสังคมสูง หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นผู้สูงอายุ จำนวน 247 คน มีอายุระหว่าง 61-76 ปี อายุเฉลี่ย 65 ปี เกษียณอายุราชการแล้วอย่างน้อย 1 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การวิเคราะห์ข้อมูลได้ทำการวิเคราะห์ทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยที่แบ่งตามลักษณะทางชีวสังคมของผู้สูงอายุ พบลการวิจัยที่สำคัญ 4 ประการคือ 1. ผู้สูงอายุที่ปฏิบัติทางพุทธศาสนามากมีคุณภาพชีวิต 3 ด้านคือ ด้านครอบครัว ด้านสุขภาพ และด้านสังคมสูงกว่าผู้ที่ปฏิบัติทางพุทธศาสนาน้อย ซึ่งพบในผู้สูงอายุทั้งหมด ส่วนผู้ตอบที่อยู่ในกรุงเทพมหานครพบว่า ถ้ามีความเชื่อทางพุทธศาสนาในปริมาณสูงจะมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพสูงด้วย 2. ผู้สูงอายุที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อนมากมีคุณภาพชีวิต 3 ด้าน คือ ด้านครอบครัว ด้านสุขภาพและด้านสังคมสูงกว่าผู้ที่ได้รรับการสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อนน้อย โดยคุณภาพชีวิตด้านครอบครัวพบชัดเจนในกลุ่มผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพพบชัดเจนในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำและผู้ที่ไม่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนผู้ที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัวมาก มีคุณภาพชีวิตด้านครอบครัวและด้านสังคมสูงกว่าผู้ที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัวน้อย 3. ในกลุ่มผู้สูงอายุโดยรวมพบว่าการปฏิบัติทางพุทธศาสนาร่วมกับจิตลักษณะ 2 ด้าน คือ สุขภาพจิตกับความเชื่ออำนาจในตนเองและการสนับสนุนทางสังคม 2 ด้าน คือ ด้านครอบครัวและด้านเพื่อน สามารถทำนายปริมาณความแปรปรวนของคุณภาพชีวิตด้านสังคมได้ 40.3% และพบผลเช่นเดียวกันนี้ในผู้ตอบที่มีรายได้ต่ำ โดยทำนายได้ 51.9% ส่วนผู้ตอบที่ไม่ได้อยู่กับคู่สมรส/บุตร พบว่าการปฏิบัติทางพุทธศาสนากับความเชื่ออำนาจในตนร่วมกันทำนายปริมาณความแปรปรวนของคุณภาพชีวิตด้านสังคมได้สูงถึง 66.3% 4. ผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตด้านใดด้านหนึ่งใน 3 ด้าน คือ ด้านครอบครัว ด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจสูงเพียงด้านเดียว ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตด้านสังคมสูงได้ พบผลนี้ในกลุ่มผู้ตอบโดยรวม

Keywords: ผู้สูงอายุ, คุณภาพชีวิต, ศาสนาพุทธ, พุทธ, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 0000103

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -