ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มนตรี นามมงคล

ชื่อเรื่อง/Title: การวิจัยสำรวจภาวะสุขภาพจิตชาวไทยภูเขา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544 . หน้า 163-165

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อทราบถึงสภาวะสุขภาพจิตและปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิตของชาวเขาในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์สุขภาพจิตเขต 10 อันจะนำไปสู่การวางแผนในการดำเนินงานสุขภาพจิตในชาวเขาในพื้นที่เขตการสาธารณสุขเขต 10 ผลการศึกษาการวิจัยสำรวจสุขภาพจิตชาวเขา เป็นการสำรวจประชากรชาวเขา จำนวน 6 เผ่าหลักที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย คือ แม้ว(ม้ง), เย้า (เมี่ยน), กระเหรี่ยง (ปกากอยะ), อีก้อ (อาข่า), มูเซอ (ลาหู่) และลีซอ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ของเขตการสาธารณสุขเขต 10คิดเป็นร้อยละ 72 ของจำนวนชาวเขาทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่การตั้งถิ่นฐานของแต่ละเผ่าจะเลือกภูมิประเทศที่ตรงกับความเชื่อ ความรู้ ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า เช่น กระเหรี่ยง (ปกากอยะ) จะตั้งถิ่นฐานตามที่ราบลุ่มเชิงเขาใกล้ต้นน้ำหรือแหล่งน้ำส่วน แม้ว(ม้ง) และ เย้า (เมี่ยน) จะเลือกตั้งถิ่นฐานในภูมิประเทศที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมกกว่า 1,500 ฟุต เป็นต้น ดังนั้นชาวเขาเผ่าหลักทั้ง 6 เผ่า จึงไม่มีความแตกต่างกันตามพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ภาคเหนือหรือภาคกลางของประเทศไทย ดังนั้น ตัวอย่างของประชากรชาวเขาที่ศึกษาวิจัยในครั้งนี้สามารถถือเป็นตัวแทนของประชากรชาวเขาของประเทศไทยได้ ในประเด็นของการสำรวจวิจัยสามารถสรุปผลได้ ดังนี้ 1. ความหมายของสุขภาพจิต ชาวเขาส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "สุขภาพจิต" มักตอบคำถามว่า ไม่รู้ ไม่เข้าใจ มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถตอบได้ว่า สุขภาพจิต หมายถึงจิตใจดี มีความสุข หรือ "อยู่ม่วน" (เป็นภาษาถิ่นภาคเหนือ หมายถึง การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สุขสบาย) 2. ลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดี,คนดี และคนเก่ง -ลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดีคือ คนมีที่ดินทำกิน มีเงินขายผลผลิตได้คราวละมากๆ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น พูดจาดีไม่ให้ร้ายใคร ทำมาหากินเก่ง ไม่ทุข์ไม่เจ็บป่วย ครอบครัวมีความสุขไม่ทะเลาะกันอยากทำอะไรก็ทำ อยากไปไหนก็ไป และมีเงินส่งลูกไปเรียนหนังสือในเมืองได้ - ลักษณะของคนดี คือ คนขยันทำกิน สามารถเลี้ยงครอบครัว ช่วยเหลือผู้อื่น พูดจาดี ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำผิดและไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด - ลักษณะของคนเก่ง คือ หาเงินได้มาก เรียนหนังสือสูงสืบทอดพิธีกรรมของเผ่าได้ มีคนเคารพนับถือ เป็นผู้ตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ ทำงานได้หลายอย่าง เป็นหมอก็ได้ หรือปีนต้นไม้ได้สูงกว่าใครๆ 3. ความสุข และปัจจัยที่มีผลต่อความสุข ความสุขในความหมายของชาวเขาคือ การมีกิน มีที่ดินทำกิน ไม่เจ็บป่วยร่าเริงหัวเราะได้ ปัจจัยที่ทำให้มีความสุขได้ คือ มีที่ดินทำกินมากๆ มีผลผลิตต่อปีสูง ขายได้เงินมากๆ ครอบครัวรักใคร่กันดีมีความสามารถส่งลูกไปเรียนได้สูงๆ 4. วิธีแก้ไขปัญหา หรือวิธีการผ่อนคลายความทุกข์ การแก้ไขด้วยตนเอง ชาวเขาจะสามารถจัดการกับปัญหาของตนโดยการปรึกษากันในครอบครัวพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ในกรณีที่เป็นปัญหาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็จะพี่งสถานีอนามัยในหมู่บ้านซื้อยาในตลาดหาสมุนไพร ไหว้ผี หรือปัญหาที่ทำกินก็จะจับกลุ่มคุยกันตามป๊อก (ละแวกบ้าน) ของตน ในกรณีที่เป็นปัญหายุ่งยากซับซ้อน ชาวเขาจะพึ่งพาผู้นำหรือผู้อาวุโสของหมู่บ้าน การไหว้ผีก็จะเพิ่มขึ้นเป็นการจัดพิธีกรรมสำหรับปัญหาที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติโดยผู้นำทางศาสนา คือ จะใช้หลายวิธีการร่วมกันตามความยุ่งยากของปัญหาที่เกิดขึ้น สำหรับการเจ็บป่วยทางจิต ชาวเขาส่วนใหญ่จะสามารถอธิบายสาเหตุของการเกิดปัญหาได้ตามปรากฎการณ์จริง เช่น คนบ้านนั้นฆ่าตัวตาย เพราะผิดหวังเรื่องความรัก คนฆ่าตัวตายเพราะเป็นโรคเอดส์ หรือคนสติไม่ดีเพราะครอบครัวไม่รักกันชอบทะเลาะกัน เป็นต้น

Keywords: สุขภาพจิต, ชาวไทยภูเขา, สุขภาพจิตชาวเขา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: ศูนย์สุขภาพจิต 10 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 0000104

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -