ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุจิตรา ภูเก้าล้วน

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ จังหวัดกระบี่

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544 . หน้า 161-162

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อทราบปัญหา และความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในจังหวัดกระบี่ นำข้อมูลและปัญหาที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์หาแนวทางในการกำหนดกิจกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายด้านผู้สูงอายุทำ การศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 1,732 คน ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล-ชนบท ที่ไม่มีปัญหาด้านการฟังและพูดไม่จำกัดเพศทั้งในและนอกชมรมผู้สูงอายุจากแบบสอบถามทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ศึกษาข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2543 ผลการศึกษามีดังนี้คือ ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างมีที่อยู่นอกเขตเทศบาลและชนบท 3 ใน 4 (ร้อยละ 76.5) เป็นเพศหญิง มากกว่าเพศชายเล็กน้อย (ร้อยละ 52.0 และ 48.0) มีอายุอยู่ในช่วง 60-70 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 63.1) รองลงมาคือ อายุ71-80 ปี ปละ 81-90 ปี (ร้อยละ 27.1 และ 8.1) ระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอยู่ในระดับปานกลาง(ร้อยละ 54.7) รองลงมาคือ ระดับสูงและระดับต่ำ (ร้อยละ 27.0 และ 18.3) เมื่อศึกษารายละเอียดพบว่า คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้านร่างกายที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ดังนี้ คือ มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือต่ำกว่า 20-25 กก/ม2 ประมาณ 1 ใน 8 (ร้อยละ 12.2 ) ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในกิจวัตรประจำวันเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 3.3) และมีผู้สูงอายุเกือบครึ่ง(ร้อยละ 47.0) ไม่มีการตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งที่ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานประจำหมู่บ้านและโรงพยาบาล โดยมีผู้สูงอายุมากกว่า 1 ใน 5 (ร้อยละ 22.3) ไม่มีการออกกำลังกาย ด้านปัญหาสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ พบว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ผู้สูงอายุป่วยมากที่สุด (ร้อยละ 4.7) โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 3.4) มีการเจ็บป่วยแต่ไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีบางส่วน (ร้อยละ 1.3) รู้ว่าป่วยแต่ไม่ได้รับการรักษา รองลงมาคือ โรคเบาหวาน (ร้อยละ 4.5) มีการเจ็บป่วยแต่ไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน (ร้อยละ 3.8) และมีบางส่วน (ร้อยละ 0.7) รู้ว่าเป็นแต่ไม่ได้เข้ารับการรักษา สำหรับโรคถัดมาที่ป่วย คือ โรคข้อ โรคอื่นๆ (โรคกระเพาะอาหาร และโรคริดสีดวงทวาร) และโรคหอบหืด (ร้อยละ 1.6,1.1 และ 0.8 ตามลำดับ) ผู้สูงอายุทุกคนรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคข้อ โรคกกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร และโรคหอบหืดแต่ไม่ได้รับการรักษา ด้านปัญหาการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ พบว่า มีผู้สูงอายุไม่ผ่านเกณฑ์ประมาณ 1 ใน 10 (ร้อยละ 11.1 และ 10.3) ด้านการนอนหลับ และการเดิน-การทรงตัว พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์มากว่า 1 ใน 10 (ร้อยละ 13.4 และ 13.2) คือนอนไม่หลับสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และไม่สามารถเดินเองได้ต้องใช้เครื่องช่วยพยุง ด้านสายตา พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์เกือบครึ่ง (ร้อยละ 40.6) ซึ่งส่วนมากเกิดจากสายตามองไม่ชัดมากที่สุด รองลงมาคือ มองไม่เห็น (ร้อยละ 40.4 และ 0.2) ด้านการใช้ฟันบดเคี้ยวพบว่า ผู้สูงอายุมากว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 31.5) ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากฟันมีไม่ครบ 20 ซี่ ด้านการได้ยินมีประมาณ 1 ใน 6 (ร้อยละ 15.0) ไม่ผ่านเกณฑ์โดยมีอาการหูตึงและหูหนวก (ร้อยละ 14.6 และ 0.4) ส่วนการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัยนั้น ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98.6) ผ่านเกณฑ์ สำหรับการเสพสารเสพติดพวกบุหรี่และสุราผู้สูงอายุบางส่วนยังเสพเลิกไม่ได้ (ร้อยละ 8.1 และ 1) สำหรับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้านจิตใจ พบว่า มีผู้สูงอายุเพียงเล็กน้อยที่มีอาการไม่ปกติทางด้านสุขภาพจิต ได้แก่ มีอาการเหงา ซึมเศร้า เบื่อหน่าย เบื่อชีวิต ฯลฯ และไม่ผ่านเกณฑ์การเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับ (ร้อยละ 3.3 และ 0.5) ส่วนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่บ้านหรือชุมชน พบว่า มีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 4 (ร้อยละ 22.5) ไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่บ้านเลยและมีผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น เมื่อมีปัญหาไม่มีผู้ที่จะมาปรับทุกข์เพื่อพูดคุยด้วย และไม่มีการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ (ร้อยละ 0.04,2.7 และ 6.4 ตามลำดับ) ส่วนคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมเรื่องรายได้ของผู้สูงอายุ พบว่า เกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 29.8) มีรายได้ หรือมีปัจจัยสี่ที่ไม่เพียงพอในการดำรงชีพและทำบุญ แต่เมื่อเจ็บป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99.0) จะได้รับการรักษาทั้งนี้ มีผู้สูงอายุบางส่วน (ร้อยละ 10.5) ที่ต้องเสียเงินในการรักษาตัวเอง โดยส่วนใหญ่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ รองลงมาคือสถานีอนามัย (ร้อยละ 55.5 และ 30.7) และมีบางส่วนของผู้สูงอายุ (ร้อยละ 9.2) ไม่มีบัตร สปร. ส่วนการมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพชุมชน พบว่า ผู้สูงอายุมากวก่า 3 ใน 4 (ร้อยละ 76.5) ชุมชนที่อยู่อาศัยยังไม่ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพชุมชน โดยพื้นที่ในเขตเทศบาลผู้สูงอายุทุกคน (ร้อยละ 100) ผ่านเกณฑ์ เพราะเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลกระบี่ซึ่งมีศูนย์กายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายมีเครื่องออกกำลังกายพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุและมีศูนย์สุขภาพของสำนักงานเทศบาลกระบี่ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัยพ์สิน พบว่า มีผู้สูงอายุเล็กน้อย (ร้อยละ 6.3) ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากมีความรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยในสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 5.1) ถูกรบกวนจากเสียง ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง กลิ่นเหม็นหรือมลพิษทางอากาศ ฯลฯ ไม่มีความปลอดภัยในชิวิตทรัพย์สิน มีส้วม-ห้องน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการมีน้ำสะอาดสำหรับดื่ม-บริโภคไม่พอเพียง (ร้อยละ 6.3,5.3,4.6 และ 3.3 ตามลำดับ) จากผลการศึกษา ผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรประสานงานและดำเนินงานร่วมกับอาสาสมัครและแกนนำชุมชนในกิจกรรมดังนี้ 1. สนับสนุนการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ (ทุกอำเภอๆ ละอย่างน้อย 2 ชมรม) เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ 2. ออกเยี่ยมเยียนและติดตามผู้สูงอายุที่มีปัญหาคุณภาพชีวิต เช่น รายได้น้อย ไม่มีบัตร สปร. เจ็บป่วยแต่ไม่รับการรักษา ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้การสนับสนุนด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี 3. สนับสนุนและจัดตั้งศูนย์พื้นฟูสมรรถภาพในชุมชนให้ผู้สูงอายุ ได้ใช้บริการตามความเหมาะสมกับท้องถิ่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและรักษาพยาบาล 4. ควรมีการจัดตั้งคลินิกหรือบริการสำหรับผู้สูงอายุในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยทุกแห่ง เพื่อให้บริการผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม 5. ให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุเรื่องการลด ละ เลิกเสพยาเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่และเหล้าเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน

Keywords: ผู้สูงอายุ, คุณภาพชีวิต, กระบี่, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 0000105

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -