ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พีระศักดิ์ ศรีฤาชา

ชื่อเรื่อง/Title: ชีวิตที่มีความสุขของผู้สูงอายุในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น : กรณีศึกษาบ้านไก่นา อำเภอเมือง

แหล่งที่มา/Source: วารสารวิชาการสาธารณสุข ปีที่ 11, ฉบับที่ 1, มกราคม-กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 54

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มุ่งค้นหาการให้ความหมายคุณค่าความเชื่อและการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการมีชีวิตที่มีความสุขในผู้สูงอายุองค์ประกอบและบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของการมีชีวิตที่มีความสุขของผู้สูงอายุในหมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดขอนแก่นโดยใช้เทคนิคต่างๆ ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ การศึกษาชุมชน การศึกษาชีวประวัติผู้สูงอายุจำนวน 7 ราย การสัมภาษณ์เจาะลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ หมู่บ้านที่ศึกษาคือหมู่บ้านไก่นา อำเภอเมือง ซึ่งได้จากการเจาะจงเลือกตามขนาด และลักษณะทางสังคม และวัฒนธรรมเพื่อให้ได้หมู่บ้านที่มีความใกล้ชิดกันทางสังคมและมีประสบการณ์ร่วมทางสังคมและวัฒนธรรม มานานพอที่จะได้ภาพของชีวิตที่มีความสุขออกมาเสนอได้ดี โดยเป็นหมู่บ้านขนาด 145 หลังคาเรือน อยู่รวมกันแบบกระจุก มีอายุมากกว่า 100 ปี เก็บข้อมูลระหว่างเดือน ตุลาคม 2543-กุมภาพันธ์ 2544 ผลการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุยังมีบทบาทสูงทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ภายใต้ปัจจัยกำหนดที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะสุขภาพที่รับรู้ บทบาทก่อนเป็นผู้สูงอายุ โดยบทบาทเด่นได้แก่บทบาทผู้นำในศาสนพิธี บทบาทในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความสามัคคีในหมู่บ้าน การอบรมสั่งสอนลูกหลาน การส่งเสริมประเพณีปฏิบัติ และบทบาทเสริมทางเศรษฐกิจ ส่วนความหมายของชีวิตที่มีความสุขนั้น แม้จะมีแตกต่างกันบ้างแต่ผู้สูงอายุก็มองว่าเป็นสภาวะของความสุขสำราญทั้งกายและใจ ความสงบและความพอเพียง โดยเปรียบคุณค่าของการมีชีวิตที่มีความสุขเหมือนกับการมีบุญ ความสุขทางใจสำคัญกว่าความสุขทางกาย ความสุขของแต่ละคนเป้นอัตวิสัยและอยู่บนฐานของการเปรียบเทียบกับผู้อื่นที่มีสถานะใกล้เคียงกับตน ความเชื่อที่เกี่ยวกับความสุข/ด้แก่ ความเชื่อในเรื่องชะตาชีวิตหรือวาสนา และความเชื่อเรื่องเวรกรรม องค์ประกอบของชีวิตที่มีความสุขได้แก่ การมีสุขภาพดี (คือไม่มีโรคเรื้อรัง และแข็งแรงพอที่จะทำกิจกรรมที่ต้องการ) มีพออยู้ พอกิน ได้ทำบุญ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และอยู่ในชุมชนที่ดี การปฏิบัติตนเพื่อให้ชีวิตมีความสุข ได้แก่ การรักษาสุขภาพ การทำบุญและปฏิบัติธรรม การทำตามความคาดหวังทางสังคมต่อผู้สูงอายุ บริบททางสังคมวัฒนธรรมของความสุขในชีวิตของผู้สูงอายุ ได้แก่ ระบบเครือข่ายญาติใกล้ชิดกัน ระบบสังคมและครอบครัวที่มให้คุณค่าเชิงบวกแก่ผู้สูงอายุภายใต้อิทธิพลของพระพุทธศาสนา สังคมเกษตรกรรมต้องพึ่งพิงกันเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่กันแบบกระจุกและมีขนาดเล็ก การวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่าโครงการบริการผู้สูงอายุเพื่อให้มีความสุขควรให้สอดคล้องกับลักษณะวัฒนธรรมของผู้สูงอายุ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชนให้รับผิดชอบดำเนินการบริการจากสถานบริการที่เป็นทางการควรจัดเท่าที่จำเป็น ควรเรงพัฒนาตัวชี้วัดทางสังคมสำหรับการมีชีวิตที่เป็นสุขของผู้สูงอายุ และขยายบริการทางสังคมให้แก่ผู้สูงอายุให้ถึงระดับรากหญ้าโดยครอบคลุมความสุขในทุกมิติ

Keywords: ผู้สูงอายุ, ความสุข, สุขภาพจิต, ชุมชน, ชนบท, metal health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

Code: 0000121

ISSN/ISBN: 0858-4923

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -