ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ยุพารัตน์ คุณุรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยเสี่ยงของการกลับมารักษาซ้ำภายในระยะ 3 เดือนของผู้ป่วยในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 99

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระบาดวิทยาของผู้ป่วยที่กลับมารักษาซ้ำ และปัจจัยเสี่ยงของกลับมารักษาซ้ำภายใน 3 เดือน ของผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ใช้ระเบียบวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบ Cross-sectional study ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2544-31 มีนาคม 2544 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกประวัติผู้ป่วย กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ลักษณะของผู้ป่วยที่ถูกคัดออกจากการศึกษาคือ 1. รับไว้รักษาด้วยโรคทางกายซึ่งเป็นญาติเจ้าหน้าที่ 2. ผู้ป่วยที่รับ Refer กลับจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 3. ช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลไม่มีแฟ้มประวัติหรือ OPD card ดังนั้นจึงเหลือกลุ่มตัวอย่างจำนวน 284 คน เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มศึกษา คือผู้ป่วยที่กลับมารักษาซ้ำภายใน 3 เดือน 2. กลุ่มเปรียบเทียบ คือ ผู้ป่วยที่กลับมารักษาซ้ำนานกว่า 3 เดือน ผลการศึกษา พบว่าความชุกของการกลับมารักษาซ้ำ มีร้อยละ 42.6 ซึ่งเป็นการกลับมารักษาซ้ำภายใน 1 เดือน ร้อยละ 14.4 และร้อยละ 26.8 ภายใน 3 เดือน โดยลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้ป่วยที่กลับมารักษาซ้ำมีดังนี้ เพศชาย ร้อยละ 82.0 อายุระหว่าง 20-39 ปี ร้อยละ 72.1 (เฉลี่ย 33 ปี) ผู้ป่วยโรคจิตเภทร้อยละ 68 มีระยะเวลาการเจ็บป่วยทางจิต 1-5 ปี ร้อยละ 46.1 รับไว้รักษาในโรงพยาบาลครั้งที่ 2 ร้อยละ 43.8 ระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาลก่อนกลับมารักษาซ้ำ 15-21 วัน ร้อยละ 46.1 (เฉลี่ย 26 วัน) อาการผู้ป่วยเมื่อจำหน่ายก่อนกลับมารักษาซ้ำ พบว่ามีอาการดีขึ้นสามารถกลับไปอยู่บ้านได้ ร้อยละ 62.4 แต่อย่างไรก็ตามพบว่า ร้อยละ 30.3 ผู้ป่วยยังมีอาการทางจิตเหลืออยู่รวมทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการปรับขนาดยาขณะอยู่โรงพยาบาล ร้อยละ 70.4 ส่วนสาเหตุของการกลับมารักษาซ้ำเนื่องจากไม่มีการบันทึกไว้ นอกจากนี้ยังพบว่า ยาจิตเวชที่ผู้ป่วยได้รับกลับบ้านก่อนกลับมารักษาซ้ำ เป็นวันละ 4 เม็ดขึ้นไป ร้อยละ 64.1 และจำนวนครั้งที่ต้อง รับประทานยาต่อวัน 3 ครั้งขึ้นไป ร้อยละ 59.9 ในขณะที่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมารักษาซ้ำภายในระยะ 3 เดือน คือ จำนวนการกลับมารักษาซ้ำในรอบ 1 ปี (OR=6.44, 95% CI=3.49-11.94) ซึ่งหมายถึง ผู้ป่วยที่มีประวัติการมารักษาซ้ำ 2 ครั้งต่อปี ขึ้นไป เสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำภายในระยะ 3 เดือนมากกว่าผู้ป่วยที่มารักษาซ้ำน้อยกว่า 2 ครั้งต่อปี ดังนั้นจากผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำมาเฝ้าระวังการกลับมารักษาซ้ำได้ตามลักษณะกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวมา โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1. ควรมีการประเมินอาการผู้ป่วยเมื่อแรกรับและก่อนจำหน่ายด้วยแบบทดสอบที่เชื่อถือได้ 2. ควรวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงแล้วมีการเตรียมผู้ป่วยญาติ และชุมชนก่อนจำหน่ายผู้ป่วย 3. ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นปัญหาควรมีการวินิจฉัยชุมชนทุกครั้งและอย่างต่อเนื่อง

Keywords: การกลับมารักษาซ้ำ, โรคจิต, ระบาดวิทยา, ผู้ป่วยโรคจิต, จิตเวช, readmission, readmit, readmitted

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000026

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -