ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปิยะนันท์ รักษ์บริสุทธิศรี

ชื่อเรื่อง/Title: บทบาทพระสงฆ์และผู้สูงอายุในการเป็นผู้นำด้านสุขภาพจิตจังหวัดสุโขทัยปี 2544

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 73

รายละเอียด / Details:

วิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน พบว่าประชาชนขาดที่พึ่ง ขาดที่ปรึกษา เพราะห่างเหินจากกิจกรรมทางศาสนา ค่านิยม และจริยธรรมทางสังคม ยึดติดในวัตถุนิยมมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสังคม และปัญหาสุขภาพจิตตามมา อีกทั้งบุคลากรในการบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตขาดแคลน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการที่จะทำให้กลไกยุทธศาสตร์งานสุขภาพจิตขับเคลื่อนไป มีเป้าหมายให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้มีสุขภาพจิตที่ดี ลดภาระในการบำบัดรักษาของสถานบริการต่อไป ดังนั้นการลดปัญหาสุขภาพจิตของคนในชุมชนจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานสุขภาพจิตทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต และจิตเวชชุมชน ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานสุขภาพจิตของจังหวัดสุโขทัย มีความมุ่งหมาย เพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์ บุคลากรสาธารณสุขและผู้สูงอายุ มีบทบาทด้านการส่งเสริมสุขภาพจิต การให้การปรึกษา การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต จิตเวชชุมชน และการสร้างเครือข่ายงานสุขภาพจิต โดยมีการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข คณะสงฆ์ ผู้สูงอายุให้มีความรู้ ความเข้าใจสามารถเป็นวิทยากร และร่วมวางแผนการดำเนินงานสุขภาพจิตในชุมชนโดยการประชุม อบรม และจัดทำคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการดำเนินงานระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เพื่อให้สามารถเชื่อโยงการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดทำโครงการ/กิจกรรมส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพจิต จิตเวชชุมชน อย่างหลากหลาย เช่น การจัดค่ายคุณธรรม การจัดให้มีศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตในวัด การบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติดด้วย Matrix Program เทศน์สั่งสอนแทรกสุขภาพจิต ลานเทศนลานธรรม การจัดทำสื่อสุขภาพจิต ร่วมจัดทำอุทยานการศึกษา ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มผู้สูงอายุโดยการจัดให้มีเครือข่ายชมรม ทุกชมรมสามารถมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมตอบสนองปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชนให้พึ่งตนเองได้และยังสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตคนในครอบครัว ชุมชนได้อย่างครอบคลุมทั้งจังหวัด ผลการดำเนินงานพบว่า 1. จังหวัดสุโขทัยเกิดเครือข่ายแกนนำด้านสุขภาพจิตในชุมชนครอบคลุมระดับหมู่บ้านถึงจังหวัดที่สามารถประสานการดำเนินงานส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพจิตระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับเครือข่ายต่างๆ ของท้องถิ่น เช่น คณะสงฆ์ ชมรมผู้สูงอายุ แกนนำนักเรียนด้านสุขภาพจิตในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ 2. เครือข่ายที่สร้างขึ้นสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพจิต การใช้สารเสพติดของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

Keywords: พระสงฆ์, สุขภาพจิต, ผู้สูงอายุ, สุโขทัย, ผู้นำชุมชน, สุขภาพจิตชุมชน, ชุมชน, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 00003

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -