ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มนตรี อมรพิเชษฐ์กุล

ชื่อเรื่อง/Title: สถานการณ์รักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชตามการรับรู้ของครอบครัว

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 111-113

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการแสวงหาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช 2. เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช 3. เพื่อศึกษาคุณภาพบริการของโรงพยาบาลจิตเวช ผลที่ได้ 1. สถานการณ์ด้านพฤติกรรมแสวงหาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชของครอบครัว ในขั้นการรับรู้อาการผิดปกติ พบว่า ร้อยละ 64-9 ญาติรับรู้ด้วยการสังเกตพบด้วยตนเอง และลักษณะอาการผิดปกติที่พบ ร้อยละ 53.4 เป็นเรื่องความคิดและพฤติกรรมทีผิดไปจากชีวิตประจำวันในขั้นการให้ความหมายและสาเหตุ ร้อยละ 80.2 ให้ความหมายว่าป่วยเป็นโรคจิต และร้อยละ 52.7 มีสาเหตุจากสารเสพติดในขั้นปรึกษาปัญหา ร้อยละ 58.8 ปรึกษาปัญหากับผู้อื่น โดยร้อยละ 32.8 ปรึกษากับเครือญาติ ส่วนเรื่องที่ปรึกษา ร้อยละ 48.9 เป็นการหาแนวทางการรักษา ในขั้นการจัดการกับปัญหาโดยการแสวงหาการรักษาพยาบาลพบว่า ร้อยละ 47.3 เป็นแบบขั้นตอนเดียวคือ ตรงมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ร้อยละ 41.6 เป็นแบบ 2 ขั้นตอน คือไปรับการรักษาที่อื่น อาทิ ไสยศาสตร์ หมอพื้นบ้าน พระ คลินิก ร.พ ทั่วไป และโรงพยาบาลจิตเวชอื่น ก่อนมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ร้อยละ 6.1 เป็นแบบ 3 ขั้นตอน คือพาไปรับการรักษาที่อื่นมาก่อน 2 แห่ง ที่จะมารับการรักษาที่ โรงพยาบาลศรีธัญญา 2. สถานการณ์ด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช ในด้านเศรษฐกิจพบว่า ร้อยละ 20.3 มีหนี้สินอันเกิดจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยร้อยละ 23.2 และร้อยละ 6.1 มีความเดือดร้อนทางการเงินในระดับปานกลางถึงระดับมาก ผลกระทบทางด้านสังคม พบว่า ร้อยละ 11.0 มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นแย่ลง และร้อยละ 17.1 การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมแย่ลง ผลกระทบด้านชีวิตส่วนตัว/การทำงาน พบว่า ร้อยละ 40.6 การใช้ชีวิตส่วนตัวแย่ลง ร้อยละ 38.7 ความสามารถในการทำงานแย่ลง ส่วนผลกระทบทางด้านจิตใจ พบว่า ร้อยละ 65.2 มีภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางจิต และญาติร้อยละ 10.3 มีความเห็นอยากให้โรงพยาบาลศรีธัญญารับผู้ป่วยไว้ในความดูแลตลอดไป ทั้งนี้ พบว่าการมองผู้ป่วยว่าเป็นภาระ และสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวมีความสัมพันธ์กับผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตส่วนตัว/การทำงาน และด้านจิตใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3. สถานการณ์ด้านการรับบริการ พบว่าครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชมีความคาดหวังต่อบริการผู้ป่วยนอก และรับรู้ระดับบริการผู้ป่วยนอกที่ได้รับจริง ทั้งรายด้าน ได้แก่ ความเป็นรูปธรรมในการให้บริการ ความน่าเชื่อถือ/ไว้วางใจได้ การตอบสนองผู้รับบริการในทันที และการเข้าใจและรู้จักผู้รับบริการ และบริการผู้ป่วยนอกโดยรวม อยู่ในระดับปานกลางทั้งสิ้น โดยความคาดหวังมีค่าคะแนนเฉลี่ย 3.21,3.23,3.29 และ 3.29 ระดับบริการที่ได้รับจริง มีค่าคะแนนฉลี่ย 3.17,2.91,3.18,3.24 และ 3.12 ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาผลต่างค่าคะแนนเฉลี่ยระหว่างความคาดหวังและบริการที่ได้รับจริง และการทดสอบค่าที (t) พบว่าครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช ไม่พึงพอใจต่อคุณภาพบริการผู้ป่วยนอกในด้านความน่าเชื่อถือ/ไว้วางใจได้ และคุณภาพบริการผู้ป่วยนอกโดยรวม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนคุณภาพบริการผู้ป่วยใน พบว่าครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชมีความคาดหวังต่อบริการผู้ป่วยในและรับรู้ระดับบริการผู้ป่วยในที่ได้รับจริง ทั้วรายด้าน ได้แก่ ความเป็นรูปธรรม ในการให้บริการ ความน่าเชื่อถือ/ไว้วางใจได้ การตอบสนองผู้รับบริการในทันที และการเข้าใจและรู้จักผู้รับบริการและบริการผู้ป่วยโดยรวม อยู๋ในระดับปานกลางทั้งสิ้น โดยความคาดหวังมีค่าคะแนนเฉลี่ย 3.36,3.44,3.39,3.38,และ 3.37 ระดับบริการที่ได้รับจริงมีค่าคะแนนเฉลี่ย 3.13,3.02,3.32,3.21 และ 3.14 ตามลำดับแต่เมื่อพิจารณาผลต่างค่าคะแนนเฉลี่ยระหว่างความคาดหวังและบริการที่ได้รับจริง และการทดสอบค่า (t) พบว่าครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช ไม่พึงพอใจต่อคุณภาพบริการผู้ป่วยในทั้งรายด้านทุกด้าน และคุณภาพบริการผู้ป่วยในโดยรวม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, ครอบครัว, การรักษาพยาบาล, การรับรู้, คุณภาพบริการ, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000036

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -