ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ไพลิน ปรัชญคุปต์

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขังในชุมชน จังหวัดสกลนคร

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 7 ปี 2544 "ความสุขที่พอเพียง" วันที่ 5-7 กันยายน 2544. หน้า 64

รายละเอียด / Details:

บทนำ/วัตถุประสงค์ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ได้ริเริ่มจัดทำโครงการนี้ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2544 ที่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยโรคจิตที่ถูกล่ามขังเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงขยายไปยังอำเภออื่นๆ ที่มีผู้ป่วยโรคจิตที่ถูกล่ามขัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขังในชุมชน 2) เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางในการดำเนินงานช่วยผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง - วิธีการ การศึกษาครั้งนี้เป็นการประเมินผลโครงการตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยได้ดำเนินการ 1) การสำรวจผู้ป่วยโรคจิตที่ถูกล่ามขังในจังหวัดของอำเภอต่างๆ 2) คัดเลือกอำเภอนำร่องที่เข้าร่วมโครงการและชี้แจงให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อสนับสนุนโครงการ 3) จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และญาติผู้ป่วย แล้วติดตามผลการดำเนินงานภายหลังอบรม 3,6 เดือน 4) จัดประชุมชี้แจงให้เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตทราบถึงแนวทางการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยล่ามขัง (สำหรับอำเภออื่นๆที่ไม่ได้เป็นอำเภอนำร่อง) 5) ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่ถูกล่ามขังพร้อมกับเครือข่ายทุกระดับ 6) ให้การช่วยเหลือตามสภาพปัญหาที่พบ 7) การจัดประชุมแพทย์ทุกอำเภอเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น 8) เตรียมความพร้อมของครอบครัวและชุมชนหลังจำหน่วยผู้ป่วย 9) กำหนดแนวทางการประสานงานที่ชัดเจนง่ายและสะดวกในการปฏิบัติ 10) กำหนดดัชนีชี้วัดในการดำเนินงานปลดโซ่ตรวนได้สำเร็จอย่างน้อยร้อยละ 25 และผู้ป่ายต้องปลดโซ่ตรวนได้อย่างน้อย 6 เดือน โดยไม่กลับไปล่ามขังอีก 11) ประกวดโครงการเด่นและผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตดีเด่นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน 12) ติดตามเยี่ยมเครือข่ายปีละ 2 ครั้ง พร้อมชี้แจงวัตถุประสงค์การดำเนินงานโครงการ ผลที่ได้ ผลการศึกษาพบว่า 1) สามารถดำเนินการปลดโซ่ตรวนได้สำเร็จตั้งแต่ ปี พ.ศ.2543 - 2544 จำนวน 27 ราย จากผู้ป่วยที่ถูกล่ามขังทั้งหมด 62 ราย คิดเป็นร้อยละ 43.55 โดยที่ผู้ป่วยจำนวนดังกล่าวไม่กลับไปถูกล่ามขังอีก และสามารถช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ หรือประกอบอาชีพได้ 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.25 2) ผู้ป่วยจำนวน 19 รายที่ปลดโซ่ตรวนได้สำเร็จครอบครัวส่งมารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น 3) ในกรณีที่ญาติไม่พร้อมจะปลดปล่อยผู้ป่วยเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตจะทำการรักษาโดยนำยาไปให้ผู้ป่วยรับประทานหรือให้การฉีดยาเบื้องต้นในพื้นที่ 4) มีการนำองค์กรอื่นๆ ในชุมชนมาช่วยในการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว 5) การจัดทำ Case conference ในชุมชน 6) เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตได้แบบอย่างและวิธีการดำเนินงานปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชและมีการขยายเครือข่ายต่อไป 7) สำหรับแนวทางการดำเนินงานปลดโซ่ตรวนสามารถใช้วิธีการดังกล่าวทั้ง 12 ประการข้างต้น และได้พัฒนาเพิ่มเติมใน 1 ช่องทาง สายด่วนให้เครือข่ายสามารถประสานงานหรือปรึกษากรณีที่มีปัญหาในการดูแลผู้ป่วยหรือต้องการส่งต่อมารับการรักษา

Keywords: โซ่ตรวน, ล่ามขัง, ผู้ป่วยทางจิต, ผู้ป่วยจิตเวช, โรคจิต, จิตเวช, ปลดโซ่ตรวน, psychiatry, psychosis

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000325

ISSN/ISBN: 974-296-076-3

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -