ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กองสนับสนุนภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ชื่อเรื่อง/Title: การสร้างเสริมสุขภาพในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตอนที่ 1 ความมีจิตสำนึก

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการร่วมระหว่างหน่วยงานภายใต้กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ครั้งที่ 2 "สาธารณสุขไทยในยุคเปิดเสรีทางการค้า" วันที่ 3-4 พฤษภาคม 2547 ณ โรงแรมเดอะแอมบาสเดอร์, หน้า 52

รายละเอียด / Details:

เทคนิคการวางแผนเพื่อการพัฒนางานด้านต่างๆ โดยมีคนเป็นศูนย์กลางนั้นมีหลักการสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้การพัฒนามีความยั่งยืน คือการจำแนกกลุ่มที่เป็นเป้าหมายให้ละเอียดแล้ว จึงจัดวางมาตรการพัฒนาให้สอดคล้องกับกลุ่มย่อยเหล่านั้น เทคนิคดังกล่าวจะส่งผลให้แผนงานได้รับความสำเร็จง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับการใช้เงื่อนไขที่เหมาะสมในการจำแนก นอกจากนั้นการใช้เทคนิคดังกล่าว จะทำให้แผนงานมีประสิทธิผลคุ้มค่ากับการลงทุนอีกด้วย การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้เงื่อนไขเรื่องจิตสำนึกเป็นเครื่องจำแนกบุคคลทั้งนี้จากสมมุติฐานที่ว่ามิติทางจิตดังกล่าวเป็นรากฐานขั้นต้นในการที่บุคคลจะตัดสินใจแสดงบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่ง การศึกษากระทำโดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามในกลุ่มประชากร 4 หมู่บ้านใน 2 ตำบล คือตำบลบ่อแก้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าปกาญอ (กระเหรี่ยง) และตำบลสะเมิงเหนือ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองรวมทั้งสิ้น 2,087 คน การศึกษานี้พบว่า สามารถจำแนกสภาวะจิตสำนึกของกลุ่มเป้าหมายได้เป็น 4 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 (PP) ผู้มีพฤติกรรมที่สะท้อนจิตสำนึกทางสุขภาพต่อตนเอง ผู้ใกล้ชิด และสภาวะแวดล้อม รวมทั้งต่อชุมชนเป็นส่วนร่วม ประเภทที่ 2 (PF) ผู้มีจตสำนึกเช่นเดียวกับกลุ่มแรก เว้นแต่ไม่ปรากฎพฤติกรรมที่สะท้อนจิตสำนึกต่อส่วนร่วม ประเภทที่ 3 (FP) ผู้ไม่ปรากฎพฤติกรรมที่สะท้อนจิตสำนึกทางสุขภาพแต่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมดี ประเภทที่ 3 (FF) ผู้ไม่ปรากฎพฤติกรรมที่สะท้อนจิตสำนึกไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกต่อตนเอง ผู้ใกล้ชิด สภาวะแวดล้อม หรือต่อส่วนรวม เมื่อชุมชนอาจจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท ตามความแตกต่างทางจิตสำนึกขั้นต่อไป จึงทำการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะเกี่ยวกับอายุ ระดับการศึกษา การมีตำแหน่งในหมู่บ้านของคนทั้ง 4 ประเภทนั้น เพื่อค้นหาความแตกต่างว่ามีเพียงใดหรือไม่ หากมีความแตกต่างก็อาจจะมีข้อบ่งชี้บางอย่างที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางกลยุทธิ์ในขั้นตอนต่อๆ ไป นอกจากนั้นจะนำไปสู่การตั้งวัตถุประสงค์สำหรับการวิจัยในขั้นตอนที่ 2 ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้มีความแตกต่างดังกล่าว และจะกลั่นกรองหาผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านต่างๆ ได้อย่างไร

Keywords: ความมีจิตสำนึก, สภาวะจิตสำนึก, พฤติกรรม, จิตวิทยา, ชาวเขาเผ่าปกาญอ กระเหรี่ยง ชาวเขา, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

Code: 100055

ISSN/ISBN: 974-92137-9-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -