ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จำลอง ดิษยวณิช

ชื่อเรื่อง/Title: ประสาทชีววิทยาของภาวะใกล้ตาย

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 , มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2541,84-104

รายละเอียด / Details:

ผู้ที่มีความสนใจในภาวะใกล้ตายมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการทบทวนวรรณคดีการอธิบายเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายมักมีลักษณะคล้ายคลึงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือเป็นประสบการณ์ที่ประกอบด้วย ความรู้สึกเป็นสุขสงบ ประสบการณ์นอกกายเนื้อ (out-of-body experience) มีกายละเอียด ล่องลอย เข้าสู่อุโมงค์ที่มืด การเข้าหาแสงสว่าง การมองเห็นผู้ที่อยู่ในแสงสว่าง สิ่งกีดขวางและสถานที่อีกแห่งหนึ่ง การพบญาติพี่น้องและเพื่อนที่ตายไปแล้ว การทบทวนวิถีชีวิต และการกลับคืนสู่ร่างเดิม พร้อมกับความรู้สึกว่ามีความกลัวตายน้อยลง แต่กลับมีความซาบซึ้งและศรัทธาในศาสนามากขึ้น จากการศึกษาทางประสาทชีววิทยา ส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับภาวะใกล้ตายได้แก่ limbic system, hippocampus. Amygdala และ temporal lobe การกระตุ้นนิวเคลียสของส่วนประกอบของ limbic system เหล่านี้และ inferior temporal lobe สามารถก่อให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ นอกจากนั้นประสบการณ์ใกล้ตายอาจถูกชักนำให้เกิดได้โดยยา การขาดออกซิเจน ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น หรือ endorpohins อย่างไรก็ตามภาวะใกล้ตายมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะเรื่องของประสาทสรีรวิทยาของสมองเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับจิต และตัวประกอบทางจิตอย่างอื่นอีกด้วย ตามหลักคำสอนในพุทธศาสนา ในขณะใกล้ตายจะมีอารมณ์ 3 อย่างเกิดขึ้นเสมอ คือ กรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งปรากฎทางทวารใดทวารหนึ่งในทวารทั้งหก แต่ส่วนมากเป็นการเห็นทางตาหรือทางใจ กรรมได้แก่ อารมณ์ ซึ่งเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว กรรมนิมิตได้แก่ เครื่องหมายหรืออุปกรณ์ในการกระทำกรรม และคตินิมิตได้แก่ นิมิต หรือเครื่องหมาย ที่บอกให้ทราบถึงภพที่จะไปเกิดในชาติหน้า อารมณ์หรือนิมิตขณะใกล้ตาย เป็นการแสดงออกของผลกรรมในอดีตที่เก็บสะสมไว้ในภวังคจิตหรือจิตไร้สำนึก จิตเป็นนามธรรมแต่สมองเป็นรูปธรรม ดังนั้นภาวะใกล้ตายจึงเป็นกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนและมีบูรณาการของจิตและสมอง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้

Keywords: death, neurology, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, , ประสาทชีววิทยา, ภาวะใกล้ตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 100414301239

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 4.99MB