ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุมาพร ตรังคสมบัติ, อรวรรณ หนูแก้ว

ชื่อเรื่อง/Title: จิตพยาธิสภาพของวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2541,22-38

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของพฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่นและจิตพยาธิสภาพของวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1-3 ที่อาศัยอยู่ที่วัดสระแก้ว จังหวัดอ่างทอง ผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 257 ราย พบว่าความชุกของพฤติกรรมฆ่าตัวตายในระยะเวลา 1 ปี เท่ากับร้อยละ 34.2 โดยเป็นความคิดอยากฆ่าตัวตายร้อยละ 24.1 และการพยายามฆ่าตัวตายร้อยละ 10.1 การศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายจำนวน 36 ราย พบว่าร้อยละ 86.1 มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และร้อยละ 13.9 พยายามฆ่าตัวตายมาในอดีต อายุที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายครั้งแรกส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นและตอนกลาง วิธีการที่ใช้บ่อยที่สุด คือ การกินสารพิษหรือกินยาเกินขนาด ปัจจัยที่กระตุ้นให้มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายบ่อยที่สุด คือ ความรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังเกี่ยวกับอนาคต การเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายกับกลุ่มควบคุมพบว่า กลุ่มที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายมีจิตพยาธิสภาพรุนแรงกว่า โดยพบความชุกของโรคทางจิตเวชสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 97.2 และ 27.1 ตามลำดับและ p‹10-6) ความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะซึมเศร้า การประเมินด้วย CDI และ SCL-90 พบว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายมีระดับความซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงกว่ากลุ่มควบคุม การเปรียบเทียบปัจจัยเครียดทางจิตสังคมพบว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายจะมีพฤติกรรมฆ่าตัวตายและการเจ็บป่วยทางจิตเวชในครอบครัว การเจ็บป่วยทางกายเรื้อรังของตัวเด็ก การถูกบิดามารดาทอดทิ้ง และการถูกทารุณทางกาย ในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การติดตามกลุ่มตัวอย่างเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าร้อยละ 47 มีความคิดอยากฆ่าตัวตายซ้ำ และในกลุ่มนี้จะมีภาวะซึมเศร้าและความเป็นอริ (hostility) ในอัตราสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายซ้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<10-4) ผลการศึกษานี้แสดงว่าพฤติกรรมฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่พบบ่อยในวัยรุ่นและอาจคงอยู่นาน ภาวะซึมเศร้าและปัจจัยเครียดในสภาพแวดล้อมบางประการเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตาย ดังนั้นการป้องกันพฤติกรรมฆ่าตัวตายควรมุ่งไปที่วัยรุ่นที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และจำเป็นจะต้องทำการติดตามเป็นระยะเวลานานตามสมควร

Keywords: ความชุก, พฤติกรรมฆ่าตัวตาย, วัยรุ่น, การฆ่าตัวตาย, จิตพยาธิสภาพ, ความเครียด, เครียด, ฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ซึม, ซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้า, ระบาดวิทยา, โรคซึมเศร้า, วัยรุ่น, เศร้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Code: 100414301240

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 3.56MB