ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุมนา ศรีชลาชัย

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจภาวะสุขภาพจิตคนไทยระดับจังหวัดในพื้นที่การสาธารณสุขเขต 7 พ.ศ. 2542

แหล่งที่มา/Source: วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปีที่ 15, ฉบับที่ 2, กรกฎาคม-ธันวาคม 2544,หน้า 83-94

รายละเอียด / Details:

การสำรวจสภาวะสุขภาพจิตคนไทยระดับจังหวัดครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบาดวิทยาของภาวะสุขภาพจิต ปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของบุคลากรครอบครัวและชุมชนในพื้นที่การสาธารณสุขเขต 7 เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross-sectional study) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ มุกดาหาร และนครพนม เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2542 กลุ่มตัวอย่างคือประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยทำการสุ่มตัวอย่างแบบ 2 ขั้นตอนในแต่ละจังหวัด จำนวน 3,534 คน เครื่องมือในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ ได้แก่การคัดกรองและวินิจฉัยโรคทางจิตเวช การติดยาและสารเสพย์ติด การดื่มและการติดสุรา การฆ่าตัวตาย ปัญหาความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ กลุ้มใจและการแก้ปัญหา การเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ความสุขในชีวิต ภาระการดูแล ผู้พึ่งพิง ผู้พิการและผู้สูงอายุ เด็กพัฒนาการล่าช้าในครอบครัว ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาของชุมชน การหย่าร้าง การทารุณกรรมเก็ก และความรุนแรงในครอบครัว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ และร้อยละ ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70 เป็นเพศหญิง อายุระหว่า 45-59 ปีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 28.9 โดยมีอาการโรคประสาท ร้อยละ 15.7 มีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 5.4 มีการใช้สารเสพย์ติด ร้อยละ 0.3 มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ร้อยละ 30.8 และร้อยละ 53.7 มีเรื่องทุกข์ใจ ไม่สบายใจ กลุ้มใจ เรื่องที่ทำให้ทุกข์ใจมากที่สุดคือ ปัญหาเศรษฐกิจ/การเงิน (ร้อยละ 48.7) และวิธีแก้ปัญหาทุกข์ใจที่ใช่มากที่สุดคือ การพึ่งตนเอง ร้อยละ 59.7 นอกจากนั้นร้อยละ 0.1 มีความคิดฆ่าตัวตาย โดยเป็นการคิดเพียงอย่างเดียวไม่ลงมือทำ สมาชิกในครอบครัวพบว่าร้อยละ 1.1 มีความผิดปกติทางจิต ร้อยละ 8.3 เป็นผู้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ร้อยละ 0.5 มีเด็กพัฒนาการล่าช้าในครอบครัว เกี่ยวกับการรู้จักบริการสุขภาพจิต พบว่าร้อยละ 51.7 รู้จักบริการให้คำปรึกษาในสถานบริการของรัฐ/เอกชน มากที่สุด โดยร้อยละ 10.4 เคยใช้บริการตรวจ/รักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิก สำหรับความคิดเห็นต่อเรื่องสุขภาพจิตดีถ้วนหน้า ร้อยละ 95 คิดว่าสภาพชุมชนน่าอยู่ รู้สึกมีความสุข และครอบครัวมีความสุข ปัญหาที่พบในชุมชนมากที่สุดคือ ปัญหาเศรฐกิจ (ร้อยละ 52.2) เมื่อเกิดปัญหา ร้อยละ 38.4 ชุมชมแก้ไขปัญหาเอง.

Keywords: สุขภาพจิต, ระบาดวิทยา, การสำรวจ, ความชุก, สุขภาพจิตคนไทย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2544

Address: ศูนย์สุขภาพจิตเขต 7 กรมสุขภาพจิต

Code: 0000461

ISSN/ISBN: 0857-4553

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -